สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พระประวัติ
ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน 6 ชึ้น 11 ค่ำ ปีกุน จ.ศ. 1225 ตรงกับวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2406 ภายในพระบรมมหาราชวัง ทรงได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ สิงหนาม “ ทรงมีพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดาพระองค์เดียวคือ “ พระองค์เจ้าหญิงกรรณิกา “
ปี พ.ศ. 2428 พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็น พระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่า “ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ “
วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2490 พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์โดยสงบ มีพระชันษา 83 ปี มีการจัดพิธีพระราชทานพระเพลิงพระศพ ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2493 โดยใช้พระเมรุองค์เดียวกับพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
พระองค์ทรงรับราชการสนองในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ, เสนาบดีกระทรวงพระคลัง , เสนาบดีกระทรวงกลาโหม , ผู้บังคับบัญชากรมยุทธนาธิการ , ผู้บัญชาการทหารเรือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ ขึ้นเป็น “ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัติวงศ์ “ในปี พ.ศ. 2448
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ยังคงรับราชการส่วนพระองค์ โดยทรงออกแบบงานต่าง ๆ ตามพระราชประสงค์เช่น พระโกศพระบรมอัฐิและพระวิมานทองคำลงยาราชาวดีสำหรับประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นตัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง มีพระบรมราชโองการเลื่อนกรมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัติวงศ์ ขึ้นเป็น “ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ “
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่กับงานศิลปะและวิทยาการ ทรงพระชราและมีโรคภัยเบียดเบียนคือ โรคพระหทัยโต หลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคเส้นพระโลหิตแข็ง พระองค์ทรงรับตำแหน่งเป็นอภิรัฐมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และทรงดำรงตำแหน่งนี้จนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทรงรับตำแหน่งอุปนายกราชบัณฑิตยสภาแผนกศิลปากร เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จต่างประเทศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งพระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เลื่อนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ขึ้นเป็น “ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ “
พระปรีชาสามารถรวมทั้งพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะวิทยาการแขนงต่าง ๆ ของพระองค์ ทรงเป็นที่ชื่นชมและยกย่องจากคนทั่วโลก จากการที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้คัดเลือกบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิในหลาย ๆ ด้านเพื่อยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก
ในปีพุทธศักราช 2506 ในวาระฉลองวันประสูติครบ 100 พรรษา องค์การยูเนสโกได้ลงมติให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยพิจารณาว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นรัฐบุรุษ ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงเป็นนักปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ และทรงเป็นศิลปินในสาขาต่าง ๆ
การระลึก
วันที่ 28 เมษายน เป็นวันครบรอบวันประสูติของพระองค์ จะมีงาน “ วันนริศ “ ณ ตำหนักปลายเนิน คลองเตย มีการแสดงละคร การบรรเลงเพลงพระนิพนธ์ การตั้งแสดงงานฝีพระหัตถ์บางชิ้น และมีการมอบ “ ทุนนริศรานุวัดติวงศ์ “ แก่นักศึกษาในสาขาวิชาศิลปะ
พระกรณียกิจ
ด้านราชการ
พระองค์ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงดังนี้ กระทรวงโยธาธิการ,กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ,กระทรวงกลาโหม และกระทรวงวัง
พระองค์ทรงเป็นผู้นำทางทหาร, ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และรัฐบะรุษผู้ทรงพระปรีชา มีการจัดตั้งกรมโยธาธิการขึ้นในปี พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมหรืออธิบดีกรมฯพระองค์แรก เมื่อกรมฯ แห่งนี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงก็ทรงได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
ทรงได้รับพระสมัญญานามว่า “ นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม “
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงรับตำแหน่งอภิรัฐมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน , อุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกศิลปากร และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการพระราชวงศ์ มีหน้าที่สนองพระเดชพระคุณในพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จยังต่างประเทศ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ
ด้านศิลปกรรม
งานสถาปัตยกรรมที่โปรดทำมากคือ แบบพระเมรุ โดยตรัสว่า “ เป็นงานที่ทำขึ้นใช้ชั่วคราวแล้วรื้อทิ้งไป เป็นโอกาสได้ทดลองใช้ปัญญาความคิดแผลงได้เต็มที่ จะผิดพลาดไปบ้างก็ไม่สู้กระไร ระวังเพียงอย่างเดียวคือเรื่องทุนเท่านั้น “
ในด้านหนึ่ง ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งวิจิตรศิลป์ สถาปัตยศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และวรรณศิลป์ ในช่วงเวลาที่กระแสอารยธรรมตะวันตกถาโถมเข้าใส่สยาม ศิลปะของเราซึ่งมีระเบียบแบบแผนขนบธรรมเนียมเคร่งครัด ต้องเผชิญหน้ากับการท้าทายจากอิทธิพลของศิลปะตะวันตก พระองค์ทรงประยุกต์ปรับปรุงวิจิตรศิลป์ซึ่งเป็นศิลปะประจำชาติไทยด้วยการศึกษาเชิงลึกถึงรากเหง้า และคลี่คลายรูปแบบทางศิลปะให้มีความเป็นสากลจนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก อันเป็นการประกาศถึงความเป็นอารยประเทศที่มีรากฐานทางศิลปวัฒนธรรมอันงดงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติใดในโลก
ตลอดพระชนม์ชีพฯ ทรงอุทิศเวลาให้แก่การสร้างสรรค์ “งานช่าง” หลากสาขา ผลงานที่ทรงรังสรรค์ไว้นับเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจที่สำคัญให้แก่ช่างและศิลปินในยุคหลัง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์มรดกศิลปกรรมไทย และทรงส่งเสริมผู้มีความรู้ความสามารถให้เป็นกำลังสำคัญในการสืบทอดมรดกงานช่างศิลป์ไทยจนได้รับยกย่องให้เป็น “สมเด็จครู “ของช่างทั้งปวง
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรฯ ทรงเป็นที่เคารพยกย่องในด้านงานศิลปะ แม้การใช้สีแต่งหน้า ทรงอธิบายได้อย่างชัดเจนและถูกหลักเกณฑ์ เพราะทรงชำนาญจากการปฏิบัติ คือการแต่งหน้าละคร พระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านศิลปะนั้น นอกจากจะค้นหาดูจากหนังสือพระประวัติและฝีพระหัตถ์ ซึ่งพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง และหนังสือเรื่อง “ตาลปัตร” ซึ่ง ม.จ.หญิง ดวงจิตร จิตรพงศ พระธิดาทรงนิพนธ์ขึ้นในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว.โต จิตรพงศ ชายาแล้ว จะค้นหาได้จากพระนิพนธ์ “สาส์นสมเด็จ” อันเป็นลายพระหัตถ์ ทรงโต้ตอบกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และลายพระหัตถ์ถึงบุคคลต่างๆ อีกมากมาย
ด้านงานช่างของสมเด็จฯ โดยเฉพาะด้านจิตรกรรมนั้น ผู้ที่ได้เห็นจะต้องออกปากว่า “มีชีวิตชีวา” ซึ่งสมเด็จฯ ตรัสเรียกว่ากระดิกได้ สมเด็จฯ เองก็ได้ทรงเล่าไว้ว่า
“... เดาน้อยที่สุด คือต้องดูของจริงในบ้านเรา ถ้าไม่เช่นนั้นก็หลง ...”
ด้วยเหตุนี้ เมื่อจะทรงเขียนรูปวัวเป็นลายปักงานศพเจ้าจอมมารดาหรุ่น จึงทรงเช่าวัวของแขกมายืนเป็นแบบอยู่หลายวัน และเมื่อจะทรงเขียนรูปหมี ซึ่งเป็นพาหนะของอธรรมเทวบุตรในเรื่องธรรมาธรรมะสงคราม ก็เสด็จไปทอดพระเนตรตัวหมีจริงๆ ซึ่งเป็นพาหนะของอธรรมเทวบุตร ที่บ้านคุณพระศัลยเวทวิศิษฐ์ (สาย คชเสนี)
ที่มาจาก http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/04/K6518376/K6518376.html
ด้านสถาปัตยกรรม
- การออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2442
- การออกแบบก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2445 หรือ ร.ศ. 121
- การออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถวัดราชาธิวาส
พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถและถาวรวัตถุอื่น ๆ และมีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนายช่างก่อสร้าง ทรงออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถพร้อมพระระเบียงอย่างวิจิตรงดงามด้วยแบบอย่างศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณ โดยลักษณะของพระอุโบสถ เป็นแบบจัตุรมุข มุขด้านตะวันออกขยายยาว ด้านเหนือและใต้มีมุขกระสันต่อกับพระระเบียง หลังคา 4 ชั้น ด้านมุขกระสันทิศเหนือและทิศใต้ 5 ชั้น มีพระระเบียงโอบรอบด้านหลัง
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบพระระเบียง ให้เชื่อมต่อมุขกระสันพระอุโบสถ ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ โอบอ้อมไปบรรจบด้านหลังพระอุโบสถ โดยเว้นเนื้อที่เป็นลานกว้าง มีประตูด้านทิศตะวันตก ตรงกับมุขตะวันตกของพระอุโบสถ ด้านใต้และด้านเหนือ มีด้านละ ๒ ประตู บานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพเสี้ยวกาง ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก
พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรและพระระเบียงที่ประดับตกแต่งแล้ว จึงวิจิตรงดงามสมบูรณ์แบบด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
ลักษณะของพระอุโบสถ
ด้านหน้าพระอุโบสถมีกำแพงแก้ว บนมุมกำแพงแก้วซ้าย-ขวา มีเสาคอนกรีตหัวเสาเป็นศิลาสลักรูปดอกบัวตูม คือ เครื่องหมาย “ สีมา “ สำหรับด้านหน้า ส่วนสีมาด้านหลังพระอุโบสถ สลักรูปเสมาธรรมจักรที่แผ่นหินแกรนิตปูพื้นภายในกำแพงแก้วปูหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา
มุขตะวันออกมีเสากลมหินอ่อน 4 ต้น ข้างบันไดหินอ่อนมีสิงห์สลักหินอ่อน 2 ตัว ซึ่งขุนสกลประดิษฐ์ ช่างในกรมสิบหมู่ เป็นผู้ปั้นแบบตามภาพที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียน
ผนังรอบพระอุโบสถด้านนอกประดับด้วยแผ่นหินอ่อน 4 เหลี่ยมสีขาวบริสุทธิ์ หนา 3 เซนติเมตร
ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลำยอง ลงรักปิดทองทึบ อ่อนช้อยรับกันทุกชิ้นมีคันทวยรับเชิงชายเป็นระยะ ๆ
หน้าบันพระอุโบสถ โปรดเกล้าให้ผูกลายประกอบพระราชลัญจกรต่างๆ คือ
1.หน้ามุขตะวันออก จำหลักไม้ ผูกลายประกอบตราเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร “พระครุฑพาห์ “ ในลายมีหมู่เทวดาอัญเชิญเครื่องสูงประกอบซ้ายชวา
2.มุขตะวันตก จำหลักไม้ ผูกลายประกอบตราเป็นอุณาโลมในบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร “ มหาอุณาโลม “ หรือ “ มหาโองการ “
3.มุขเหนือ ปั้นปูน ผูกลายประกอบตราเป็นช้างสามเศียร บนหลังมีบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร “ ไอยราพต “
4. มุขใต้ ปั้นปูน ผูกลายประกอบตราเป็นรูปจักรรถ ซึ่งถอดมาจากพระราชลัญจกร “ จักรรถ “ แต่พระราชลัญจกรจักรรถเหมือนกับ “ พระธรรมจักร “ จึงเรียกอีกชื่อว่า “ พระธรรมจักร “
ในการผูกลายประกอบพระราชลัญจกร มีพระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์ศุภากร (พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศฺ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ช่วยเขียนแบบด้วย ในกำกับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
บานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูน ภาพเทวดารักษาประตู ( ทวารบาล ) ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก
บานหน้าต่างด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพมาร ( ยักษ์ )แบก ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนด้านนอก
ภายในพระอุโบสถ มุขตะวันตกประดิษฐานพระพุทธชินราช ด้านหน้าพระพุทธชินราชเป็นรั้วหินอ่อนกลมสีเขียวหยก
พระแท่นรัตนบัลลังก์พระพุทธชินราช ผนังเสมอกรอบหน้าต่าง และพื้นพระอุโบสถประดับหินอ่อนหลากสี ณ พระแท่นรัตนบัลลังก์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้บรรจุพระสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงสถาปนาวัด
ผนังเหนือกรอบหน้าต่างขึ้นไปซึ่งเป็นส่วนถือปูน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ช่างกรมศิลปากรเขียนลายไทยเทพนมทรงพุ่มข้าวบิณฑ์สีเหลืองบนพื้นขาวอมเหลืองอ่อนจนถึงเพดาน
เหนือหน้าต่าง 10 ช่อง เป็นช่องกระจกรับแสง เขียนสีลายไทยเทพนม โดยช่างกรมศิลปากร ออกแบบสั่งทำจากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ในปี พ.ศ. 2497 โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นเจ้าภาพ
ด้านบน ขื่อใน และขื่อนอก 3 ชั้น ลงรักปิดทองลายรดน้ำ เพดานในล่องชาด ประดับดาวกระจาย 232 ดวง ดาวใหญ่ 11 ดวง มีโคมไฟระย้าแก้วขาวอย่างดีตราเลข 5 ซึ่งเป็นตราวัดเบญจมบพิตร 6 โคม พร้อมสายบรอนซ์สั่งจากประเทศเยอรมนี
ช่องคูหาทั้ง 8 เขียนภาพสถูปเจดีย์ที่สำคัญทุกภาค จัดเป็น “ จอมเจดีย์ “ ในประเทศไทย โดยกรมศิลปากรออกแบบและเขียนเสร็จในปี พ.ศ. 2489 ประกอบด้วย พระมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี , พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม , พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช ,พระเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา , พระมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย , พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ,พระมหาธาตุหริภัญชัย จังหวัดลำพูน และพระศรีรัตนธาตุ จังหวัดสุโขทัย

สำหรับหินอ่อนที่ประดับตกแต่งพระอุโบสถ พระระเบียง ตลอดจนสถานที่อื่น ๆ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวัดขนาดทำแบบส่งไปเป็นตัวอย่าง เรียกประกวดราคาโดยตรงจากบริษัทขายหินอ่อน ประเทศอิตาลี โดยมีวิศวกรและสถาปนิกชาวอิตาเลียนเป็นผู้ช่วย
อาคารโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง เป็นตึกทรงยุโรป
พระอุโบสถวัดราชาธิวาส
พระอุโบสถ เป็นทรงขอมคล้ายนครวัด แต่เป็นลวดลายปูนปั้นผินหน้าไปทางทิศตะวันตก มีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหน้าวัด
พระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร ถนนสามเสน ซึ่งเป็นวัดต้นกำเนิดพระคณะธรรมยุต แปลกจากพระอุโบสถในยุคเดียวกัน คือเป็นลักษณะนครวัดในประเทศกัมพูชา ทั้งหน้าบัน หลังคา เสารับโครงสร้างและประตูหน้าต่างล้วนแต่ออกไปทางขอมหรือเขมร แม้กระทั่งสะพานบันไดนาคข้ามคูหน้าพระอุโบสถก็เป็นลักษณะเดียวกับสะพานที่ หน้าปราสาทนครวัดของเขมร
เมื่อเข้าไปในพระอุโบสถซึ่งไม่กว้างใหญ่นัก แต่ได้แบ่งออกเป็นห้องถึง 3 ห้อง แต่ละห้องมีประโยชน์ใช้สอยต่างกัน การแบ่งออกเป็นห้องเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้ที่ทรงออกแบบพระอุโบสถหลังนี้ และเป็นหลังเดียวในประเทศไทยคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เอกอุศิลปินของชาติไทย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบสร้างใหม่โดยให้รักษาผนังเดิมไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานสำคัญของฝ่ายธรรมยุต จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถเป็นภาพเขียนเทคนิคฝรั่งที่เรียกว่า สีปูนเปียก แสดงเรื่องพระเวสสันดรชาดก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นผู้ร่างภาพ นายริโกลี ชาวอิตาลี (ผู้เขียนภาพบนเพดานโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคม) เป็นผู้เขียน
ศาลาการเปรียญตั้งอยู่หน้าวัด เป็นศาลาการเปรียญสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังที่สวยงาม จุคนได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันคน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงให้สร้างเลียแบบจากศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี
หลังประธานเป็นซุ้มคูหา เบื้องบนมีภาพพระพุทธเจ้าอยู่เหนือเมฆกำลังตอบปัญหาของพระสารีบุตรและพระอินทร์เฝ้า ใกล้พระประธานมีรูปศากยกษัตริย์พระประยูรญาติมาเฝ้าอยู่เบื้องหลัง
ฝาผนังทั้ง 3 ด้าน มีภาพเขียนพระเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ เขียนโดยศาสตราจารย์ชาวอิตาเลียนชื่อ “ ริโคลี “
บานประตูหน้าต่างทุกบานลายรดน้ำ ทรงข้าวบิณฑ์ ด้านในเป็นภาพเทวรูปทุกช่อง
ตอนหลังสุดมีผนังห้องและประตูผ้าม่านผ่านถึงตอนที่ 3 ห้องนี้เป็นที่ประดิษฐ์พระประธานองค์เดิมของวัดนามว่า “ พระสัมพุทธวัฒโนภาส “
ใต้ฐานชุกชีแห่งพระสัมพุทธพรรณีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประดิษฐานพระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในรัชกาลปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารสมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าไว้ภายใต้ฐานชุกชีพระสัมพุทธวัฒโนภาส และเมื่อ พ.ศ. 2528 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บรรจุเส้นพระเกศาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ด้วยเนื่องจากพระอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2450 ( ร.ศ. 127 )
งานด้านสถาปัตยกรรมเป็นงานที่พระองค์ทรงพิถีพิถันมาก เพราะตรัสว่า “ ต้องระวังเพราะสร้างขึ้นก็เพื่อความพอใจ ความเพลิดเพลินตา ไม่ใช่สร้างขึ้นเพื่ออยากจะรื้อทิ้ง ทุนรอนที่เสียไปก็ใช่จะเอาคืนมาได้ ผลที่สุดก็ต้องทิ้งไว้เป็นอนุสาวรีย์สำหรับขายความอาย “
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีผลงานออกแบบซ่อมสร้างอีกมากมาย อาทิ หมู่พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และปราสาทเทพบิดร ออกแบบพระที่นั่งราชฤดี ประตูและกำแพงวังท่าพระ รวมถึงงานออกแบบพระเมรุมาศในงานพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ และทรงทูลขอปรับปรุงพื้นที่สนามหลวงให้เป็นพื้นที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ จัดงานสำคัญ รวมถึงเป็นศูนย์รวมให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ร่วมชุมชน จัดกิจกรรม การแสดง และการละเล่นมหรสพต่างๆ ดังที่ได้เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้
ที่มา หนังสือจะวันวาน จะวันไหน จะภูมิใจ กรมโยธาธิการและผังเมือง
ด้านภาพจิตรกรรม
- ภาพเขียนรถพระอาทิตย์ที่เพดานพระที่นั่งภานุมาศจำรูญ( พระที่นั่งบรมพิมาน )
- ภาพจิตรกรรมมัจฉาชาดกที่หอพระคันธารราษฎรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
- ภาพร่างเรื่องพระเวสสันดรชาดกสำหรับเขียนลงบนผนังอุโบสถวัดราชาธิวาส
- ภาพเขียนพระสุริโยทัยขาดคอช้าง
- ภาพประกอบเรื่องธรรมาธรรมะสงคราม
- ภาพแบบพัดต่าง ๆ
งานออกแบบ
- ออกแบบตรากระทรวงต่าง ๆ
- อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1
- องค์พระธรณีบีบมวยผมที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา
- พระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า
- ออกแบบพระเมรุมาศและพระเมรุของพระบรมวงศ์หลายพระองค์
ด้านวรรณกรรม
- โคลงประกอบภาพจิตรกรรมภาพพระราชพงศาวดาร
- โคลงประกอบเรื่องรามเกียรติ์ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่องานฉลองพระนครครบรอบร้อยปี
- ลายพระหัตถ์โต้ตอบประทานบุคคลต่าง ๆ เช่น จดหมายเวรโต้ตอบกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งต่อมาพิมพ์ในชื่อ “ สาสน์สมเด็จ “
- ลายพระหัตถ์ประทานความรู้ในลักษณะจดหมายโต้ตอบพระสารประเสริฐและพระยาอนุมานราชธนเรื่องภาษาและประเพณี ซึ่งลายพระหัตถ์เหล่านี้เป็นเหมือนคลังความรู้สำหรับผู้สนใจศึกษาค้นคว้าทั่วไป
ด้านดุริยางคศิลป์และนาฎศิลป์
ทรงสนพระทัยทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล โดยเฉพาะดนตรีไทยทรงถนัดเล่นปี่พาทย์และระนาดมากกว่าดนตรีอื่น ๆ
เพลงพระราชนิพนธ์
- 1.เพลงสรรเสริญพระบารมี ( คำร้อง )
- เพลงเขมรไทรโยค
- เพลงตับ เช่น ตับแม่ศรีทรงเครื่อง ตับเรื่องขอมดำดิน
ด้านบทละคร
ทรงนิพนธ์บทละครดึกดำบรรพ์ไว้หลายเรื่อง
- สังข์ทอง ตอนทิ้งพวงมาลัย ตีคลี และตอนถอดรูป
- คาวี ตอนเผาพระขรรค์ ชุบตัว และตอนหึง
- อิเหนา ตอนตัดดอกไม้ฉายกริช ไหว้พระ และตอนบวงสรวง
- รามเกียรติ์ ตอนศูรปนขาตีสีดา
สรุป
พระองค์เป็นผู้ที่ขยันศึกษาเล่าเรียน สนใจและสร้างผลงานมากมายทรงเปิดรับวัฒนธรรมของต่างชาติเข้ามาประยุกต์ใช้ ปรับปรุงและก่อให้เกิดรูปแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของความเป็นไทยซึ่งมีความเป็นสากล ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อต่างชาติ
งานด้านสถาปัตยกรรมเป็นงานที่พระองค์ทรงพิถีพิถันมาก เพราะตรัสว่า “ ต้องระวังเพราะสร้างขึ้นก็เพื่อความพอใจ ความเพลิดเพลินตา ไม่ใช่สร้างขึ้นเพื่ออยากจะรื้อทิ้ง ทุนรอนที่เสียไปก็ใช่จะเอาคืนมาได้ ผลที่สุดก็ต้องทิ้งไว้เป็นอนุสาวรีย์สำหรับขายความอาย “ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดี มิใช่การออกแบบเพียงเพื่อสนองความต้องการของผู้ออกแบบแต่ต้องคำนึงถึงคุณประโยชน์ด้านต่างๆของอาคารด้วย
คติประจำใจของพระองค์ “ ถ้าทำไม่ดี ไม่ทำเสียดีกว่า “ ให้แง่คิดในการทำงาน เราควรมีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อความสมบูรณ์แบบของงานนั้น ๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น